ธุรกิจกลุ่มรัตนรักษ์ ของ ชวน รัตนรักษ์

ธุรกิจขนส่งทางน้ำ

ในปี พ.ศ. 2497 ชวนได้ก่อตั้งบริษัท สหขนส่งทางน้ำ จำกัดขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของ จอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งป็นการรวมเอาธุรกิจการขนส่งทางน้ำที่ดำเนินการอยู่แล้วภายใต้ชื่อบริษัท บางกอก ทรานสปอร์ต จำกัด (“Bangkok Transport Co., Ltd.”) และบริษัท เรือขนส่งบางกอก (“Bangkok Lighter Co., Ltd.”) ให้รวมเป็นกิจการเดียว [7] ในปี พ.ศ. 2507 ชวนได้ก่อตั้งบริษัท เจนเนอรัล โลจิสติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในเวลาดังกล่าว โดยการก่อตั้งบริษัทได้รับการสนับสนุนจากจอมพล ประภาส จารุเสถียร ซึ่งต่อมาชวนได้ขายหุ้นส่วนในกิจการดังกล่าวออกไป [7]

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ในปีพ.ศ. 2500 ภายหลังการปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ภายใต้การนำของสหรัฐ, ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งนำมาสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย การเปิดเสรีทางการค้าดังกล่าวได้เปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน โดยเฉพาะธุรกิจในสายการเงินและการธนาคารซึ่งทำให้สามารถลดทอนการพึ่งพาอำนาจทางการทหารลงได้ [8] ในปี พ.ศ. 2501 ชวนได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐบาลให้เข้ามาบริหารธนาคารกรุงศรีอยุธยาในตำแหน่งกรรมการจัดการธนาคารและผู้ถือหุ้นใหญ่ในเวลาต่อมา[6]ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 – พ.ศ. 2536 [5]

ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 - 2509) ที่มีเป้าหมายเพื่อรองรับการเติบโตและส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้นำมาสู่การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2505 อย่างไรก็ดีในช่วงปี พ.ศ. 2501-2516 ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยในระยะดังกล่าวยังคงขึ้นอยู่กับธนาคารภายในประเทศ [6] มีโครงสร้างการบริหารจัดการระบบธนาคารเดี่ยว (Unit Banking System or Independent Banking) ซึ่งเป็นระบบธนาคารที่มีอิสระไม่ขึ้นอยู่กับการควบคุมของธนาคารอื่นๆ การดำเนินงานภายใต้ระบบโครงสร้างธนาคารเดี่ยวดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนใหญ่ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าสู่แหล่งเงินทุนได้ง่าย เพิ่มอำนาจในการขยายตัวของอาณาจักรทางธุรกิจ จนก้าวเข้าสู่การเป้นหนึ่งในตระกูลใหญ่ที่กุมเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนั้น โดยอาจอุปมานได้ว่าภายในปี พ.ศ. 2522 ในบรรดาธุรกิจทั้งหมดที่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในกิจการธนาคารเข้าไปลงทุนนั้นมีมากกว่าครึ่งที่เป็นกิจการที่ไม่เกี่ยวกับการธนาคาร [9] ด้วยการสร้างเครือข่ายที่ดีทั้งต่อสถาบันทางการเมืองและต่อสถาบันทางเศรษฐกิจต่างๆ ธนาคารยักษ์ใหญ่ในประเทศเหล่านี้ได้กลายเป็นที่พึ่งให้แก่ธุรกิจไทยต่างๆที่เข้ามาเป็นลูกค้าของธนาคารผ่านการที่สามารถกู้เงินไปใช้ในการขยายธุรกิจของตนได้อย่างมั่นคง แม้ในช่วงที่สภาวะทางเศรษฐกิจไม่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะในช่วงการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของสหรัฐฯในช่วงทศวรรษที่ 1960 – 1970[10]

ในปีพ.ศ. 2539 ก่อนที่วิกฤติการณ์การเงินเอเชีย (“The Asian Financial Crisis”) จะส่งผลกระทบมายังประเทศไทย ราคาหุ้นของธนาคารกรุงศรี ซื้อขายอยู่ที่ ประมาณ 150 บาท ซึ่งหมายถึงมูลค่าทางตลาด (“Market Value”) ของแต่ละธนาคารมีมูลค่าคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[11]

ธนาคารนครหลวงไทย

ในปี พ.ศ. 2506 ชวนเข้าถือหุ้นในธนาคารนครหลวงไทย 25% ซึ่งทำให้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารฯ ซึ่งต่อมาได้ขายหุ้นดังกล่าวไปในปี พ.ศ. 2523 [8]

ปูนซีเมนต์นครหลวง

ในปี พ.ศ. 2510 ชวนได้รับมอบประทานบัตรในการประกอบกิจการผลิตปูนซีเมนต์ [5] และได้ก่อตั้งบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด ซึ่งถือเป็นโรงงานปูนซีเมนต์ของเอกชนรายแรกของประเทศไทย โดยในขณะนั้นบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่รายเดียวในประเทศไทย หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดคือการตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งแรกที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี การกำหนดจุดตั้งโรงงานผลิตดังกล่าวส่งผลให้มีกำลังผลิตปูนซีเมนต์พอเพียงต่อความต้องการการใช้ปูนซีเมนต์ที่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณ ชวน รัตนรักษ์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด ตั้งแต่นั้นจนถึงปี พ.ศ. 2536 [5]

การผลิตปูนซีเมนต์เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2515 และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง[12] ในอีก 5 ปีต่อมา บริษัทฯก็ได้จดทะเบียนเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2523 ยุทธศาสตร์สำคัญของบริษัท อาทิ เป็นบริษัทประกอบกิจการปูนซีเมนต์แห่งแรกที่ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม บุกเบิกการนำถ่านลิกไนต์มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตปูนซีเมนต์ เป้นต้น ซึ่งยุทธศาสตร์ข้อหลัง ส่งผลให้กำลังการผลิตของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปูนซีเมนต์ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศด้วยส่วนแบ่งการตลาดใที่ 27% [12] และยังคงก้าวต่อไปในฐานะผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างชั้นนำ [2]

บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด

ในปี พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นสมัยที่จอมพลประภาส จารุเสถียร ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ชวนได้รับสัญญาสัมปทานเพื่อดำเนินการส่งออกอากาศโทรทัศน์สีร่วมกับกองทัพบกโดยใช้มาตรฐานการออกอากาศ ซีซีไออาร์ 625 เส้น ในระบบ PAL เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยระบบการกระจายสัญญาณดังกล่าวมีกองทัพบกเป็นเจ้าของ [13] การดำเนินงานจึงเป็นไปตามมติและนโยบายของคณะกรรมการควบคุมวิทยุและโทรทัศน์กองทัพบก บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด จึงได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการบริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ด้วยทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท ซึ่งกลุ่มรัตนรักษ์ได้สนับสนุนทางการเงินให้กิจการดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ชวนและกลุ่มรัตนรักษ์จึงได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งในบริษัทฯ นับแต่นั้นมา [5]

แม้ว่าธุรกิจการธนาคารยังถือเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มรัตนรักษ์ แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ในฐานะดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์สีแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้รายได้จากการถือหุ้นใน บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ถือเป็นรายได้ที่สำคัญหลักอีกทางหนึ่งของกลุ่มรัตนรักษ์ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2533 สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ได้รับการยอมรับว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 50% และทำรายได้มากกว่า 30% ของรายได้จากสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์รวมกันทุกช่อง[14]

การที่กลุ่มรัตนรักษ์เป็นผู้สนันสนุนเงินแก่สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ทำให้สามารถพัฒนาระบบการกระจายสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเหตุผลสองประการ คือ หนึ่ง – แม้ว่าการดำเนินการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ ภายใต้สัญญาสัมปทานที่ทำร่วมกับกองทัพบก จะให้เสรีภาพในการกระจายสัญญาณก็ตาม แต่อุปกรณ์พื้นฐานหลักที่ใช้ในการกระจายสัญญาณยังคงเป็นของกองทัพบก [5] ดังนั้น หนึ่งในภารกิจสำคัญของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด คือการสร้างและพัฒนาเครือข่ายพื้นฐานในการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ให้ทันสมัยและการขยายสถานีส่งสัญญาณช่อง 7 สีออกไปสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยได้รับการยอมรับจากทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติและจากกองบัญชาการกองทัพไทย [13] สอง – การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการเล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับขีดความสามารถของระบบโครงสร้างพื้นฐานในการกระจายสัญญาณต่าง ๆ ให้ทันสมัย เสริมสร้างศักยภาพให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลกให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้การลงทุนในโครงสร้างดังกล่าวยังเป็นการลงทุนที่จะให้ผลประโยชน์ในระยะยาวซึ่งเป็นปัจจัยหลักหนึ่งที่ทำให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี มีความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจนับแต่นั้นมา [5]

การลงทุนในปี พ.ศ. 2516 นั้นทำให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี สามารถขยายสถานีส่งสัญญาณออกไปสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และต่อมาในปี พ.ศ. 2521 สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี เป็นสถานีโทรทัศน์สถานีแรกที่ทำการถ่ายทอดสัญญาณจากห้องส่งในกรุงเทพฯ ไปยังสถานีขยายสัญญาณที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ช่อง 7 สี จึงมีความได้เปรียบจากการบุกเบิกตลาดทำให้สามารถครอบครองฐานลูกค้า ผู้ชมรายการโทรทัศน์และช่องทางการขายไว้ได้ ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี (ปัจจุบันใช้ชื่อว่า ช่อง 7 เอชดี) มีสถานีส่งสัญญาณทั้งหมด 35 สถานี เฉพาะการออกอากาศในระบบแอนะล็อก มีเครือข่ายที่ครอบคลุมในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน[13](ปัจจุบันยุติการออกอากาศในระบบเดิมไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามก็ยังคงมีการออกอากาศต่อไปในระบบดิจิตอล ความคมชัดละเอียดสูง ที่ช่องหมายเลข 35 โดยมีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบโครงข่ายการส่งสัญญาณออกอากาศภาคพื้นดิน)

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชวน รัตนรักษ์ http://www.emporis.com/building/ploenchittower-ban... http://www.ft.com/intl/cms/s/3/d95e609c-a073-11e2-... http://mcot.listedcompany.com/misc/analyst_briefin... http://www.nationmultimedia.com/business/Bank-of-A... http://www.nationmultimedia.com/business/Ratanarak... http://www.siamcitycement.com/about/cor_profile/ac... http://www.siamcitycement.com/downloads/koobaan/20... http://www.culture.go.th/subculture9/images/storie... http://www.politicalbase.in.th/index.php/%E0%B8%8A... http://www.set.or.th/set/companyprofile.do?symbol=...